ทางรอด “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ความท้าทายภายใต้มาตรการ AD

08 ธันวาคม 2566
ทางรอด “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ความท้าทายภายใต้มาตรการ AD

ศูนย์วิจัยอีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดรายงานทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทยภายใต้การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ มาตรการ AD เช็ครายละเอียดความท้าทายสำคัญ รวมทั้งข้อเสนอที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจเหล็กที่นี่

ศูนย์วิจัยอีไอซี (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยรายงานเรื่อง มาตรการ AD กับทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทย...เพียงพอไหมให้เหล็กไทยไปไกลกว่าเดิม มีเนื้อหาที่น่าสนใจว่า การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping measure : AD) กับสินค้าเหล็กจากต่างประเทศที่มีพฤติกรรมการทุ่มตลาดในไทย เพื่อปกป้องผู้ผลิตและอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศ ตั้งแต่ปี 2545 

แม้จะมีกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ทั้ง ผู้ผลิตเหล็กในประเทศ เช่น ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กลวดคาร์บอนสูง รวมถึงผู้ผลิตท่อเหล็กบางประเภทที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ 

แต่ก็มีกลุ่มที่ต้องเผชิญภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจาก AD ได้แก่ กลุ่มผู้นำเข้าเหล็ก และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโดยใช้เหล็กขั้นปลายจากการนำเข้ามาเป็นวัสดุตั้งต้นในการผลิต ไปจนถึงผู้ที่ใช้งานผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นสุดท้าย เช่นเดียวกัน 

ดังนั้น การใช้มาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าสำหรับอุตสาหกรรมเหล็ก จึงจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบรอบด้านตลอดทั้ง Supply chain ทั้งในส่วนของผู้ผลิตเหล็กกลางน้ำ และเหล็กปลายน้ำ ผู้ค้าเหล็กผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไปจนถึงผู้บริโภค

ความจำเป็นของมาตรการ AD

SCB EIC มองว่า มาตรการ AD ยังมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทย แต่ยังต้องอาศัยการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมควบคู่กันไป แม้ว่าในปัจจุบันนโยบายการค้าเสรี จะเป็นกลไกในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้า 

แต่หากเกิดสถานการณ์ที่สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ซึ่งเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม จนสร้างผลกระทบด้านลบต่อผู้ประกอบการในประเทศแล้ว ก็ต้องมีการปกป้องให้อุตสาหกรรมในประเทศยังสามารถดำเนินต่อไปได้

ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้มีการสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีก็ยังมีการใช้มาตรการ AD และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) กับสินค้าเหล็กทั้งหมดกว่า 23 รายการ ที่มาจากต่างประเทศรวม 36 ประเทศ

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมเหล็กประมาณ 110,000 ราย ในโรงงานผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กทั่วประเทศราว 4,000 แห่ง ซึ่งหากเกิดกรณีที่เหล็กจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด จนกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ผลิตเหล็กในไทย จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งมูลค่าการค้าการลงทุน รายได้ของอุตสาหกรรม ไปจนถึงการจ้างงาน 

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องใน Supply chain ที่ต้องใช้เหล็กตามมา ทั้งภาคการก่อสร้างการผลิตรถยนต์ การผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิต และการส่งออกที่สำคัญของไทย

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

SCB EIC ได้วิเคราะห์ผลกระทบของการใช้มาตรการ AD ในระดับต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการจำลองสถานการณ์โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งผลการวิเคราะห์ พบว่า หากเหล็กจากต่างประเทศถูกนำเข้ามาทุ่มตลาดในไทย จะกินส่วนแบ่งตลาดของเหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น 

ส่วนกรณีที่กำหนดให้ไทยยกเลิกการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กทุกประเภทที่มีสถานะใช้มาตรการอยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลให้ราคาเหล็กนำเข้า ต่ำกว่าราคาเหล็กที่ผลิตในประเทศอยู่มาก ในระดับที่ผู้ผลิตเหล็กในประเทศไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้และส่งผลให้เหล็กนำเข้าถูกนำมาใช้ทดแทนการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น 

โดยการผลิตเหล็กในประเทศที่หายไปทุก ๆ 1 แสนตันจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงประมาณ 0.19% และส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมเหล็กลดลงประมาณ 1.2% 

กรณีนี้จะส่งผลให้การผลิตเหล็กในประเทศลดลงประมาณ 3.4 แสนตันหรือลดลง 4.7% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงราว 0.6% และส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมลดลงราว 4.1%

ขณะที่การลดอัตราอากร AD ลงสำหรับสินค้าเหล็กที่ถูกใช้มาตรการ ตั้งแต่การลดอัตราอากรลงไปค่อนข้างมากที่ 50%จากอัตราอากรเฉลี่ยในปัจจุบัน ไปจนถึงการลดอัตราอากรไม่มากนักที่ 10% จากอัตราอากรเฉลี่ยในปัจจุบัน ก็จะยังคงส่งผลให้การผลิตเหล็กในประเทศหดตัว เนื่องจากการลดอัตราอากร AD กับสินค้าเหล็ก จะทำให้เหล็กนำเข้ายังมีความได้เปรียบทางด้านราคาอยู่มาก 

จึงมีความต้องการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาใช้งาน ทดแทนการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ โดยมีผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย รวมถึงยังไม่สามารถส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้จึงกล่าวได้ว่าการใช้มาตรการ AD รวมถึงการกำหนดอัตราอากรในปัจจุบัน ยังมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทย

จับตามาตรการระยะต่อไป

ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กรวม 12 รายการ ในอัตราอากร 0%-145.31% ของราคา CIF ประกอบด้วยเหล็กทรงแบน ทั้งเหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กลวดคาร์บอนสูง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อที่ทำด้วยเหล็กกล้า 

อย่างไรก็ดียังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การพิจารณาใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กที่กำลังจะสิ้นสุดในระยะ 1-2 ปีนี้ ว่าจะมีการพิจารณาให้ยุติ หรือใช้มาตรการต่อไป โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน ที่ยังคงต้องอาศัยการใช้มาตรการ AD เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในปัจจุบันมีการผลิตเพียง 20% จากความต้องการใช้งานเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้งหมดของไทย

โดยยังมีความต้องการใช้งานเหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้นไปตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิตรถยนต์ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า 

ข้อเสนอขับเคลื่อนธุรกิจเหล็ก

SCB EIC มีข้อเสนอว่า ผู้ผลิตเหล็กต้องมีการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต้นทุนที่สูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทยควบคู่กันไป โดยผู้ผลิตเหล็กในไทยที่มีความจำเป็นในการนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นเหล็กกึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก 

เป็นข้อจำกัดในการควบคุมต้นทุน ยังต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคำสั่งซื้อเหล็กกึ่งสำเร็จรูปนำเข้า อย่างสอดคล้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความต้องการใช้งาน ราคาเหล็ก อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงอาจรวมกลุ่มผู้ผลิตเหล็กในการสั่งซื้อในปริมาณมากที่ก่อให้เกิด Economies of Scale 

ผู้ประกอบการสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทยควบคู่กันไป ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเหล็ก เพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรม รวมถึงผลิตเหล็กที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก ทั้งเหล็กที่มีคุณภาพสูง และลดการปล่อยมลภาวะ 

ทั้งนี้จากความท้าทายด้านกำลังการผลิตเหล็กของไทย ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยอาจต้องอาศัยแนวทางการควบรวม รวมกลุ่มการผลิต รวมถึงพิจารณาใช้แผนการแลกเปลี่ยนกำลังการผลิต (Capacity swap plan) ระหว่างผู้ผลิตเหล็กรายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กไทย

นอกจากนี้การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยหันมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตเหล็กที่มีคุณภาพสูงเพื่อผลักดันให้เหล็กไทยเข้าไปอยู่ใน Supply chain การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง และอุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่ม Hi-tech อาทิ อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ การขนส่งระบบราง และพลังงาน 

รวมถึงการยกระดับการผลิตเหล็กที่ลดการปล่อยมลภาวะ เพื่อผลักดันให้เหล็กไทยเข้าไปอยู่ใน Green supply chain ตามเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีการสร้างเครือข่ายในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใน Supply chain 

เช่นเดียวกับการสร้างความร่วมมือกับองค์กรที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงจะเป็นโอกาสในการยกระดับศักยภาพในการผลิตเหล็กของไทยให้มีเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในยุโรปที่มีการร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตเหล็ก และผู้ผลิตสินค้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเหล็กที่ปราศจากการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล (Fossil-free steel) ในกระบวนการผลิต เพื่อนำไปผลิตเป็นส่วนประกอบของสินค้าประเภทต่าง ๆ ของผู้ผลิตชั้นนำของโลก ทั้งยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า 

รวมถึงแนวโน้มการเพิ่มสัดส่วนการใช้เหล็กประเภทดังกล่าวในภาคการก่อสร้าง ที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้าจากเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นก ลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ของแต่ละหน่วยธุรกิจ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของเหล็กไทยได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มโอกาสในการส่งออกเหล็กไทยอีกด้วย

ดังนั้น การใช้มาตรการ AD จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนของไทย และเพิ่มกำลังการผลิตในภาพรวมได้โดยหากมีเหล็กแผ่นรีดร้อนจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดอย่างต่อเนื่อง จนผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ ก็จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของไทยมีโอกาสลดลงในระยะข้างหน้าและต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด

ทั้งนี้ อาจพิจารณาใช้มาตรการอัตรา AD เฉพาะผู้ผลิตที่มีพฤติการณ์ทุ่มตลาดในปริมาณมากเป็นอันดับต้น ๆ ในระยะเวลาที่ทำให้ผู้ผลิตเหล็กของไทยสามารถผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายในราคาที่สามารถแข่งขัน จนสามารถเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตได้ในระดับที่ก่อให้เกิด Economies of scale 

โดยการใช้มาตรการ AD จะส่งผลต่อปริมาณการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มโอกาสสำหรับความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตเหล็กของไทยตามมา รวมถึงยังต้องให้ความสำคัญกับการติดตามการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการ AD ด้วยการเจือสารประเภทอื่น ๆ ในสินค้าประเภทใกล้เคียงกันอีกด้วย

 


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.